วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การละเล่นเป่ากบ





เป่ากบ

เป่ากบ เป็นการละเล่นของเด็กที่เล่นกันในร่ม เล่นได้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย เด็ก ๆ จะเรียกยางวงที่ตัวเองจะเป่าว่า “อีเต” (หมายถึง ยางที่ตัวเองมั่นใจว่าเป่าดีที่สุด) แล้วตั้งกติกาว่า ถ้าเป่ายางกบกันได้ จะได้กันครั้งละกี่เส้น อาจจะเป็นครั้งละ 5 เส้น หรือ 10 เส้น ก็แล้วแต่เด็ก ๆ จะตกลงกัน

วิธีการเล่น

ผู้เล่นมีจำนวน ๒ คน หรือเป็นทีมก็ได้ สถานที่เล่น ในที่ร่ม ใช้พื้นที่เรียบ ๆ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ ซึ่งผู้เล่นจะเอายางเส้น จะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ หรืออาจจะเป็นวงสีต่าง ๆ อยู่ที่ความชอบ ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีน้ำตาล เป็นต้น นำมาวางบนพื้นคนละ ๑ เส้น ให้อยู่ห่างกันประมาณ ๑ ฟุต ผู้เล่นจะผลัดกันเป่ายางเส้น ของตนไปข้างหน้าทีละน้อย ๆ จนยางเส้นทั้งสองมาอยู่ใกล้กับผู้เล่นคนใดเป่าให้ยางเส้นของตนไปทับยางเส้นของฝ่ายตรงข้ามได้ก็จะเป็นผู้ชนะ ฝ่ายแพ้จะต้องจ่ายรางวัลให้กับผู้ชนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยางเส้น แต่อาจให้รางวัลอื่นๆ ก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน

อุปกรณ์

- ยางวง (ยางเส้น) วงใหญ่ หรือวงเล็กก็ได้ แล้วแต่ความชอบและความถนัด

- ผู้เล่นจำนวนตั้งแต่ ๒ คน หรือมากกว่า เล่นทั้งเด็กชายและเด็กหญิงบางครั้งอาจเล่นเป็นทีมก็ได้

- สถานที่ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ

ประโยชน์และคุณค่าในการละเล่นเป่ากบ

-การเล่นเป่ากบ เป็นการเล่นที่ให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นการฝึก การรู้กำหนดจังหวะ
- ฝึกสังเกต ไหวพริบในการเป่าของคู่ต่อสู้ ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้จักคิดให้รอบคอบก่อนที่จะเป่า ถ้าเป่าโดยไม่คิดอาจจะผิดพลาดได้
- เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักความรัก ความสามัคคี

การละเล่นม้าก้านกล้วย




ม้าก้านกล้วย

การเล่นม้าก้านกล้วยทำให้เด็กสนุกสนาน เกิดจินตนาการ ได้ออกกำลังกาย โดยเด็กจะใช้ก้านกล้วยมาทำเป็นหัว หู และหางม้า แล้วสมมติตัวเองว่าเป็นคนขี่ม้าพาวิ่ง ม้าก้านกล้วยเป็นการเล่นพื้นบ้านของเด็กที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ที่ถือเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น ให้เด็กๆ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน
วัสดุอุปกรณ์
- ก้านกล้วย , มีด , ไม้กลัด , เชือก หรือเชือกฟางก็ได้แล้วแต่เราสะดวกในการหา

วิธีทำม้าก้านกล้วย

- ตัวม้า ตัดก้านกล้วยขนาดใหญ่มาหนึ่งก้าน ให้มีความยาวประมาณ1 เมตรขึ้นไป ใช้มีดคมเลาะใบกล้วยถึงปลาย เอาส่วนกลางก้านกล้วยมาทำเป็นลำตัว
- หางม้า ปลายก้านกล้วยให้เหลือส่วนที่เป็นใบตองไว้เล็กน้อย เพื่อสมุมติให้เป็นหางม้า
- หัวม้า ก้านกล้วยตรงโคนที่มีขนาดใหญ่ ให้ใช้มีดปาดทั้งสองด้าน ความยาวประมาณ 10 ซ.
- คอม้า หักคอให้เป็นคอม้า มีหูสองข้างตั้งชันแล้วใช้ไม้กลัด แทงตรงก้านหัวให้แน่นเพื่อเป็นหัวม้า
- บังเหียนตัดเชือก ให้มีความยาวพอประมาณ ผูกตรงหัวและตรงท้ายสำหรับสะพายหรือไว้คล้องไหล่ผู้เล่น

วิธีการเล่น

ให้นำก้านกล้วยที่เปลี่ยนสภาพมาเป็นก้านกล้วยโดยสมบูรณ์แล้ว ขึ้นขี่บนก้านกล้วยแล้ว
ออกวิ่ง จากนั้นส่งเสียงร้อง ฮี้ฮี้ แต่ถ้ามีผู้เล่น2คนขึ้นไป ก็สามารถจัดเป็นการแข่งขันขึ้นได้ โดยฝ่ายไหนวิ่งเร็วที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ

ประโยชน์และคุณค่าการเล่นม้าก้านกล้วย

- การทำท่าเหมือนม้า ทำให้เด็กมีจินตนาการ และ กล้าแสดงออก
- เป็นการออกกำลังกายอย่างดีสำหรับเด็กในวัยนั้น
- รักษาประเพณีพื้นบ้านของไทย

ในปัจจุบันนี้ การขี่ม้าก้านกล้วยเริ่มเลือนหายไปจากสังคมปัจจุบันแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน จึงทำให้การละเล่นเด็กไทยต่างๆ ลดลงไปมาก แต่การขี่ม้าก้านกล้วยก็ยังสามารถพบได้ตามงานวัฒนธรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว และยังกลายเป็นสัญลักษณ์ ในงานต่างๆ ที่สื่อความเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย เช่น ตัวนำโชคของ การแข่งขันเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 20 หรือ สุโขไทยเกมส์ ซึ่งเป็นรูปเด็กชายผมจุกเล่นขี่ม้าก้านกล้วย


การละเล่นงูกินหาง

งูกินหาง

"แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน..." ประโยคคุ้น ๆ ให้การเล่น งูกินหาง ที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเป็นที่นิยมของเด็กในทุกเทศกาล ทุกโอกาสอีกด้วย

วิธีการเล่นงูกินหาง

เริ่มจากเสี่ยงทาย ใครแพ้ต้องไปเป็น "พ่องู" ส่วนผู้ชนะที่มีร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่จะเป็น "แม่งู" ไว้คอยปกป้องเพื่อน ๆ คนอื่นที่เป็น "ลูกงู" จากนั้น "ลูกงู" จะเกาะเอวแม่งูและต่อแถวกันไว้ ยืนเผชิญหน้ากับ "พ่องู" จากนั้นจะเข้าสู่บทร้อง โดยพ่องูจะถามว่า
พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู : "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)
พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู : "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" (พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา)
พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู : "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)
จากนั้นพ่องูจะพูดว่า "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว" แล้ววิ่งไล่จับลูกงูที่กอดเอวอยู่ ส่วนแม่งูก็ต้องป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูไปได้ เมื่อลูกงูคนไหนถูกจับ จะออกจากแถวมายืนอยู่ด้านนอก เพื่อรอเล่นรอบต่อไป หากพ่องูแย่งลูกได้หมด จะถือว่าจบเกมแล้วเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูจะกลับไปเป็นแม่งูต่อในรอบต่อไป

ประโยชน์และคุณค่าของการละเล่นงูกินหาง

คือ ทำให้ผู้เล่นเกิดความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือกัน และรู้จักการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เมื่อภัยมาถึงตัว นอกจากนี้ยังฝึกร่างกายให้แข็งแรง และจิตใจเบิกบานสนุกสนานไปด้วย