อุปกรณ์และวิธีการเล่น
ว่าวโดยทั่วไปมีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุก นำมาผ่าแล้วเหลา ให้ได้ตามที่ต้องการแล้วนำมาประกอบกันให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ผูกติดกันด้วยเชือกโยงยึดกัน เป็นโครงสร้างและปิดด้วยกระดาษชนิดบางเหนียว เช่น กระดาษสาและตกแต่งลวดลายด้วยจุด หรือดอกดวงเพื่อปิดยึดกระดาษกับเชือกให้แน่นว่าวที่นิยมกันคือ
ว่าวจุฬา ซึ่งมีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุก ๕ ชิ้น มีจำปา ๕ ดอก ทำด้วยไม้ไผ่ยาว ๘ นิ้ว เหลากลมโตประมาณ ๓ มิลลิเมตร จำปา ๑ ดอกมีจำนวนไม้ ๘ อัน มัดแน่นกับสายป่านที่ชักว่าวจุฬาอันเป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับปักเป้า
ว่าวปักเป้า มีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุกเหลากลม ๒ ชิ้น มีเหนียงเป็นเชือกยาว ๘ เมตร ผูกปลายทั้ง ๒ ข้าง ให้หย่อนเป็นสายรูปครึ่งวงกลมเพื่อคล้องตัวว่าวจุฬาให้เสียสมดุลจนตกลงพื้นดิน
ว่าวหง่าว ทำด้วยโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษสา ลำตัวตอนบนมีรูปคล้ายอกว่าวจุฬามีเอวคอดและท่อนล่างกว่าท่อนบน ตอนส่วนหัวมีไม้ไผ่เหลาและขึงเชือกเหมือนคันธนู ส่วนขึงเชือกนี้จะเกิดเสียงเมื่อต้องลม เสียงนี้ช่วยกำจัดความชั่วร้ายได้
ปัจจุบันว่าวที่มีการเล่นกันโดยทั่วไปได้มีการพัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อความสวยงาม โดยทำว่าวให้เป็นรูปแบบที่แปลกแตกต่างกันออกไปเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ว่าวงู ว่าวผีเสื้อ ฯลฯ
วิธีการเล่น
๑. ชักว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่ เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่าง ๆ
๒. บังคับสายชักให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ นิยมกันที่ความสวยงาม ความสูง และบางทีก็คำนึงถึงความไพเราะของเสียงว่าวอีกด้วย
๓. การต่อสู้ทำสงครามกันบนอากาศ คือ การแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าคว้ากันบนอากาศ จะจัดให้มีการแข่งขันกันที่บริเวณท้องสนามหลวงกำหนดแดนขณะทำการแข่งขัน ว่าวปักเป้าจะขึ้นอยู่ในแดนของตน ล่อหลอกให้ว่าวจุฬามาโฉบเพื่อจะลากพามายังดินแดนของตน โดยให้ว่าวปักเป้าติดตรงดอกจำปาที่ติดไว้ เมื่อติดแน่นดีแล้วว่าวจุฬาจะรีบลากรอกพามายังดินแดนของตน ขณะเดียวกันว่าวปักเป้าก็จะพยายามใช้เหนียงที่เป็นเชือกป่านคล้องตัวว่าวจุฬาให้เสียสมดุลและชักลากดึงให้ตกลงมายังดินแดนของตน ในการเล่นว่าวจุฬาลากพาว่าวปักเป้าเข้ามาทีละตัวหรือหลายตัวก็ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างนำคู่แข่งขันมาตกยังดินแดนของตนเองได้ ก็ถือว่าเป็นฝ่ายชนะแต่ถ้าขณะชักลากพามา ว่าวปักเป้าขาดลอยไปได้ถือว่าไม่มีฝ่ายใดได้คะแนน
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การเล่นว่าวต้องอาศัยกระแสลมเป็นสำคัญ กระแสลมที่แน่นอนจะช่วยให้เล่นว่าวได้สนุก จึงมักจะเล่นกันในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งถึงว่าเป็นช่วงที่ลมพัดแรงกระแสลมสม่ำเสมอที่เราเรียกกันว่า “ลมว่าว”
ประโยชน์และคุณค่า
การแข่งขันว่าวเป็นกีฬาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง เป็นศิลปะที่ต้องใช้ความสามารถของผู้ทำว่าวและผู้ชักว่าวเป็นอย่างมากต้องใช้ความประณีต ความแข็งแรง ความมีไหวพริบ และข้อสำคัญต้องอาศัยความพร้อมเพรียงด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น